ผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังที่ชื่อน่ารัก แต่อาการไม่น่ารัก

5 ปีที่แล้ว
blog
“ ปลูกกุหลาบแดงไว้เพื่อเธอ  เก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าดอก ”  ถ้าเกิดคนรักซื้อดอกกุหลาบให้ในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์เราคงจะมีความสุขกันน่าดู  แต่ถ้าดอกกุหลาบมันดันมาเกิดเป็นผื่นบนร่างกายของเราล่ะ!  วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า “ ผื่นกุหลาบ ”  แต่อย่าได้เข้าใจผิดว่าโรคผื่นกุหลาบ  คือ  โรคที่แพ้เกสรดอกกุหลาบ  ซึ่งเป็นโรคคนละอย่างกันอย่างสิ้นเชิงนะครับ  วันนี้เรามานำเสนอรอยโรคนี้กันครับ 
โรคผื่นกุหลาบ  โรคผื่นกลีบกุหลาบ  หรือ  โรคผื่นขุยกุหลาบ  ( Pityriasis Rosea )  ที่มาของชื่อโรคมาจากการรวมคำโดยใช้คำว่า  “ Pityriasis ”  ซึ่งหมายถึง “ เป็นขุยบาง ๆ ” ส่วนคำว่า “ Rosea ” นั้นแปลว่า “ สีดอกกุหลาบ ” นั้นเอง  โดยโรคชนิดนี้เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไป  สามารถพบได้ในทุกเชื้อชาติทั่วโลก  มีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน  ไม่ใช่โรคติดต่อ  และไม่อันตรายร้ายแรงจนส่งผลต่อชีวิต  ซึ่งสาเหตุของโรคยังไม่มีที่มาชัดเจน  แต่สันนิษฐานว่ามาจากการติดเชื้อไวรัสตระกูลเฮอร์ปีส์  ( Herpes Virus ) อย่างเฉียบพลัน
โดยอาการของโรคผื่นกุหลาบมีลักษณะเกิดผื่นคันขึ้นเป็นวงกว้างสีชมพูรูปวงกลม  หรือวงรี  หรือเป็นจุดรูปไข่  และมีขุยล้อมรอบเป็นปื้นใหญ่โดด ๆ  ซึ่งจะขึ้นตามบริเวณลำตัว  แผ่นหลัง  ใบหน้า   หนังศีรษะ หรือบริเวณใกล้อวัยวะสืบพันธุ์   ผู้ป่วยราว 75% จะมีอาการคัน  และราว 25% อาจมีอาการคันรุนแรงมาก  โดยอาจมีภาวะอาการไข้ร่วมขึ้นด้วยในระยะแรก  ทั้งนี้อาการผื่นคันจะปรากฎอยู่ประมาณ  2-12  สัปดาห์  และอาการหายไปเองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา  ส่วนผู้ป่วยที่มีผิวสีคล้ำอาจมีจุดสีน้ำตาลเกิดขึ้นหลังอาการผื่นขุยหายดีแล้ว  ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้
ยาบางประเภทอาจสามารถกระตุ้นการเกิดโรค  เช่น  Aspirin ( ยาแก้อักเสบ และลดไข้ ) , Bismuth ( ยาแก้ท้องเสีย และคลื่นไส้ ) , Captoprill ( ยาลดความดันโลหิต ) , Metronidazole ( ยาฆ่าเชื้อ ) , Levomisol ( ยาฆ่าพยาธิ ) , Terbinafine ( ยารักษาเชื้อรา ) , Ketotifen ( ยาแก้โรคภูมิแพ้ ) , Isotretinoin ( ยารักษาสิว )  และ  Salvarsan ( ยารักษาซิฟิลิส )  เป็นต้น
การรักษาผื่นกุหลาบ  โดยปกติแล้วโรคนี้จะหายไปเองภายใน 7-8 สัปดาห์ แต่หากผู้ป่วยยังคงมีอาการเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน ผู้ป่วยก็ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังโดยตรง  วิธีการบรรเทาอาการให้ทุเลาลงด้วยตนเองเบื้องต้น  เช่น  อาบน้ำเย็น  หลีกเลี่ยงอาบน้ำร้อน  หรือสภาพอากาศร้อน  หลีกเลี่ยงความเครียด  พักผ่อนให้เพียงพอ  ขัดผิวด้วยข้าวโอ๊ต   เลือกใช้สบู่อ่อน  ทาโลชั่นบำรุงผิว  เป็นต้น    

Relate Blog Contents