ผิวหนังไก่ในตำนาน ปัญหานี้จงหลุดลอยไป
5 ปีที่แล้ว
อยากอวดผิวสวยเนียนใสให้ใครต่อใครต่างอิจฉา แต่กลับกลายเป็นว่าเราดันเป็นผิวหนังไก่ เห็นแล้วคงท้อใจไม่ว่าใครก็ไม่อยากเป็น แล้วผิวหนังไก่คืออะไร ปัญหาแบบนี้เราจะทำอย่างไร ต้องดูแลตนเองอย่างไร วันนี้เรามาดูกันครับ
ผิวหนังไก่ หรือที่เรียกกันว่าโรคขนคุด ( Keratosis Pilaris ) ซึ่งโรคนี้เป็นปัญหาทางผิวหนังที่พบได้เยอะมาก สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทุกเพศทุกวัย ลักษณะอาการจะเกิดมีตุ่มขนาดเล็ก ๆ ขรุขระบนผิวหนัง ผิวสากไม่เรียบเหมือนหนังไก่ สาเหตุเป็นเพราะการอุดตันของโปรตีนเคอราติน ( Keratin ) ในรูขุมขนทำให้ขนไม่สามารถงอกพ้นผิวหนังได้ตามปกติ จึงเกิดเป็นตุ่มตามรูขุมขน โดยอาจมีลักษณะแดงล้อมรอบไปด้วยสีชมพูระเรื่อ หรือมีอาการคันอักเสบร่วมได้ด้วย ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นสิว โรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่ไม่อันตรายร้ายแรง และไม่ใช่โรคติดต่อ เพียงแค่ทำให้เสียความมั่นใจต่อภาพลักษณ์เท่านั้น โดยแนวโน้มปัจจัยที่มีส่วนสามารถกระตุ้นให้เกิดผิวหนังไก่ หรือโรคขนคุด คือ พันธุกรรม อากาศเย็น ผิวแห้ง เป็นโรคหอบหืด ( Asthma ) โรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ( Atopic Dermatitis ) หรือโรคผิวหนังเกล็ดปลา ( Ichthyosis Vulgaris ) เป็นต้น
ผิวหนังไก่ หรือ โรคขนคุด มีวิธีปฏิบัติดูแลรักษาเพื่อปรับความรุนแรงของรอยโรคด้วยตนเองเบื้องต้นได้ง่าย ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนเกินไป ห้ามแคะ แกะ เกา หรือขัดผิวอย่างเด็ดขาด ใช้สบู่อ่อนที่เหมาะสำหรับผิวที่แห้งหรือผิวที่แพ้ง่าย ทาโลชั่นหรือครีมหลังอาบน้ำเช้าเย็นจำพวกที่มีส่วนผสมของ Alpha Hydroxyl Acid ,
Glycolic Acid , Lactic Acid , Salicylic Acid , Urea , Glytone , Moisturizer ควรหมั่นออกกำลังกาย และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น แต่ในบางรายอาจมีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก อาจต้องเข้าปรึกษากับแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา ความเหมาะสม และความปลอดภัยครับ
มีวิธีการหนึ่งที่ทางการแพทย์ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพได้ผลดี และเป็นที่นิยมอย่างมาก คือ การทำเลเซอร์กำจัดขน ( Hair Removal ) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณตุ่มผิวหนังไก่จากขนที่ไม่สามารถงอกได้ตามปกติ แต่ต้องรักษากับแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางโดยตรงเพราะแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาชนิดของเลเซอร์เพื่อช่วยลดอาการบวมและแดง มีผู้เป็นผิวหนังไก่หลายรายประสบความสำเร็จจากการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ได้อย่างดีเยี่ยม แถมราคาค่าใช้จ่ายในการรักษายังไม่แพง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองทางร่างกายของแต่ละคนต่อการรักษาด้วย
วิธีการดูแล และรักษาข้างต้นไม่ได้ทำให้หายขาดจากโรค แต่จะช่วยให้โรคสงบลง และลดอาการกำเริบของโรค การรักษาที่ต่อเนื่องจะส่งผลให้ผลลัพธ์ของการรักษาดีกว่า ดังนั้นการดูแลรักษาผิวหนังไก่ต้องทำการศึกษา มีความใส่ใจ มีวินัย รักษากับแพทย์เฉพาะทางด้วยความต่อเนื่องสม่ำเสมอครับ